วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

การทำงานของคอมพิวเตอร์เมื่อกดปุ่มพาวเวอร์

                สวัสดีทุกคนค่ะ วันนี้มีสิ่งดีๆ จะมานำเสนออีกแล้ว จากประสบการณ์การถอดประกอบคอมพิวเตอร์หลายครั้ง ทำให้เราได้ทราบเพียงเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์เท่านั้น เรายังไม่รู้ว่าคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร ทำไมมันถึงช่วยเราทำงานได้และทำให้เราสะดวกสบายได้มากเพียงนี้
" เอ้เจ้าคอมพิวเตอร์มันจะกินอะไรน๊าาาาา ถึงมีแรงมาทำงานให้เราได้ " ไปดูอาหารและการทำงานของคอมพิวเตอร์กัน
                1. ต้องกดปุ่ม Power ก่อน เมื่อกดปุ่ม Power คอมพิวเตอร์จะส่งสัญญาณไปยังแหล่งจ่ายไฟ (Power Supply) โดยจะเกิดการช็อตกราวด์ที่พิน PS-ON เพื่อให้กระแสไฟครบวงจรซึ่งถ้าเราดูจากคอนเน็คเตอร์ของ Power Supply จะเป็นพินที่มีสายไฟสีเขียวนั่นเองคะ  เกิดการแปลงกระแสไฟจากกระแสไฟฟ้าสลับ ( AC : Alternating Current) เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC  : Direct Current) เพื่อจ่ายไฟให้กับเมนบอร์ด ซีพียู การ์ดขยาย และอุปกร์อื่นๆ  ในการทำงานของคอมพิวเตอร์จะต้องใช้ไฟฟ้ากระแสตรงด้วยแรงดันที่เหมาะสมกับคอมพิวเตอร์


             2. คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบต่างๆ ได้รับพลังงานที่เพียงพอแล้ว และแหล่งจ่ายไฟไม่มีข้อผิดพลาด ก็ส่งสัญญาณโดยใช้ทรานซิสเตอร์ ไปยังเมนบอร์ดและหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (CPU)ขณะเดียวกัน หน่วยประมวลจะล้างข้อมูลที่หลงเหลือในรีจีสเตอร์หน่วยความจำ (memory register) และมีผลทำให้โปรแกรมเคาน์เตอร์ในซีพียู (program counter) มีค่าเท่ากับ F000 ซึ่งเป็นเลขฐานสิบหก ตัวเลขนี้เป็นที่อยู่ของคำสั่งแรก (First Instruction) และเป็นการบอกให้ CPU  พร้อมที่จะประมวลผลคำสั่งที่อยู่ในไบออส (BIOS : Basic input/output system)

         
        3. ขั้นตอนต่อมาเป็นกระบวนการทดสอบตัวเองซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า โพสต์ (POST : power-on-self-test) เพื่อตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ว่าถูกต้องหรือไม่ถ้าคอมพิวเตอร์ไม่ผ่านการทดสอบใดๆ กระบวนการ POST มีความผิดปกติเกิดขึ้น POST (โพสต์) ที่ผิดปกติจะแจ้งเป็นรหัสเสียงเตือน (beep code) แบบต่างๆออกมา 

         4. ผลลัพธ์จากกระบวนการ POST จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อยู่ในซีมอส ข้อมูลของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งแล้วในเครื่องหรือค่า configuration จะถูกเก็บอยู่ในหน่วยความจำที่เรียกว่า ซีมอส (CMOS – complementary metal oxide semiconductor ) ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณเล็กน้อยในการหล่อเลี้ยง โดยใช้แบตเตอรี่ตัวเล็ก ๆ บนเมนบอร์ด เพื่อให้เครื่องสามารถจำค่าต่าง ๆ ไว้ได้ ผลลัพธ์จากกระบวนการ POST นี้ จะถูกนำมาตรวจสอบกับข้อมูลซีมอส ถ้าถูกต้องตรงกันก็ทำงานต่อได้ ไม่เช่นนั้นต้องแจ้งผู้ใช้ให้แก้ไขข้อมูลก่อน
         5. ไบออสจะอ่านโปรแกรมสำหรับบู๊ตจากฟล็อปปี้ดิสก์ ซีดีหรือฮาร์ดดิสก์ ขั้นถัดไปไบออสจะเข้าไปอ่านโปรแกรมสำหรับการบู๊ตระบบปฏิบัติการจากเซกเตอร์แรกของฮาร์ดดิสก์ ฟล็อปปี้ดิสก์ หรือซีดีรอม โดยที่ไบออสจะมีความสามารถในการติดต่อกับอุปกรณ์เหล่านั้นได้
         6. โปรแกรมส่วนสำคัญจะถูกถ่ายค่าลงหน่วยความจำ RAM เมื่อไบออสรู้จักระบบไฟล์ของไดรว์ที่บู๊ตได้แล้วก็จะไปอ่านโปรแกรมส่วนสำคัญของระบบปฏิบัติการที่เรียกว่าเคอร์เนล ( kernel ) เข้ามาเก็บในหน่วยความจำหลักหรือ RAM ของคอมพิวเตอร์เสียก่อน
         7. ระบบปฏิบัติการในหน่วยความจำเข้าควบคุมเครื่องและแสดงผลลัพธ์ เคอร์เนลที่ถูกถ่ายโอนลงหน่วยความจำนั้นจะเข้าไปควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์โดยรวมและโหลดค่า configuration ต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงผลออกมาที่เดสก์ท็อปของผู้ใช้เพื่อรอรับคำสั่งการทำงานต่อไป 


สำหรับขั้นตอนการทำงานของคอมพิวเตอร์ก็มีเพียงเท่านี้ ต่อไปเราจะมีอะไรมานำเสนอนั้นผู้อ่านก็มาติดตามตอนต่อไปกันนะคะ สวัสดีคะ บ๊าย บาย

(อ้างอิงจาก http://www.suwanpaiboon.ac.th/wbi/page/na59.HTM)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น